Kia Ora.
แปลว่า สวัสดี
แปลว่า สวัสดี
“พ่อ...
ที่โรงเรียนเขาแนะนำให้ไปสอบชิงทุนไปแลกเปลี่ยน หนูไปสอบนะ”
“แลกเปลี่ยนไปไหน? ไปสิ...”
“หนูลงไปสอบกรุงเทพอ่ะ
ขอตังค์ค่ารถด้วยดิ...
แล้ว.. ถ้าหนูสอบผ่าน
มันต้องออกค่าตั๋วเครื่องบินเองนะพ่อ”
“ถ้าผ่านก็ ค่อยว่ากันอีกที”

โครงการที่ฉันเดินทางมาสอบนี้ชื่อว่าโครงการพัฒนานักเรียนที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาอังกฤษในต่างประเทศ
เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้นโยบายการพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของนักเรียนไทย
โดยมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งหมดนี้ฉันลอกมาจากเนื้อหาโครงการในเว็บไซต์ทั้งนั้น
ที่จริงแล้วฉันไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโครงการนี้เลยนอกจาก
หนึ่ง ฉันมีคุณสมบัติที่สามารถสมัครได้
สอง ถ้าสอบผ่าน
จะได้ไปนิวซีแลนด์ตอนปิดเทอม
วินาทีนั้นฉันมองไปรอบห้องสอบแล้วถอนหายใจ
นักเรียนหลายร้อยคนที่นั่งทำข้อสอบอยู่ในห้องเดียวกับฉัน
ดูอักษรย่อบนอกเสื้อแล้วก็มีแต่โรงเรียนชื่อดังที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งนั้น
ฉันนอกจากจะมาจากเชียงใหม่แดนไกลแล้ว
ก็ยังมาจากโรงเรียนประจำอำเภอที่ชื่อไม่ดังด้วย
เมื่อหมดเวลาทำข้อสอบ
นักเรียนที่ยังเหลืออยู่ในห้องสอบก็ถูกทยอยเก็บข้อสอบไปที่ละคน ๆ รวมถึงตัวฉันด้วย
ฉันตอบตัวเองไม่ได้ว่าข้อสอบนั้นง่ายหรือยาก เพราะที่ทำไปนั้นฝนไปตามสัญชาติญาณ
เอาละ ข้อนี่มันต้องถูกแน่ ๆ ต้องใช่แน่ ๆ ฝนเลยแล้วกัน (ฮา...)
เมื่อเดินออกมานอกห้องสอบแล้วฉันก็ทิ้งเรื่องสอบไว้ตรงหน้าประตูนั้นด้วย
‘คนเป็นร้อยเป็นพัน
ไม่ติดก็ไม่แปลกละวะ..’
เมื่อถึงวันประกาศผลสอบข้อเขียน
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ พระเจ้าคงสงสารฉันที่ฉันลงทุนไปแล้วตั้งพันกว่าบาท
(หรืออยากจะแกล้งฉันให้ฉันเสียเงินอีกพันกว่าบาทอีกครั้งก็ไม่แน่ใจ) สุดท้ายก็มีชื่อเสาวลักษณ์
เชื้อคำ อยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์จริง ๆ
“แม่ หนูติดสอบสัมภาษณ์แล้วแหล่ะ”
“อ้าวเหรอ เห็นมั้ยแม่บอกแล้วว่ามีลุ้น
โทรบอกพ่อสิ”
...
“พ่ออออ สอบผ่านอ่ะ
ขอตังค์ไปสอบสัมภาษณ์หน่อย”
สุดท้ายฉันก็แบกกระเป๋าเป้
เดินทางลงกรุงเทพอีกครั้ง
สอบสัมภาษณ์ครั้งนี้ในสมองยังไม่มีข้อมูลเลยว่าการสอบสัมภาษณ์นี่มันจะต้องทำยังไงบ้าง
รู้แต่ว่า ถ้าสัมภาษณ์ผ่าน จะได้ไปเที่ยวแล้วนะ แกต้องทำให้ผ่านสิ
“เธอชื่ออะไรอ่ะ...”
“มาจากเชียงใหม่เหรอ...”
“มาคนเดียวเลยเหรอ เก่งอ่ะ”
“ทำไมไม่นั่งเครื่องมา
จะได้ไม่ต้องค้างคืน”
ทุกคนดูจะตื่นเต้นกับการเดินทางของฉันมาก
เพราะฉันเป็นนักเรียนคนเดียวที่มาจากเชียงใหม่ นั่งรถทัวร์มาจากบ้าน
และนั่งรถเมล์ต่อมานอนห้องพักที่ครุสภา และเดินข้ามถนนมาสอบสัมภาษณ์ ฉันเองก็ตอบคำถามไม่ถูกเลยแก้เก้อด้วยการเดี่ยวไมโครโฟนโชว์มันซะเลย
การเดี่ยวไมโครโฟนเป็นไม้ตายของฉันเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรจะพูด
หรือไม่รู้จะพูดอะไรดี ได้ผล ทีนี้เพื่อน ๆ ไม่ถามเรื่องการเดินทางฉันแล้ว
แต่มาฟังฉันเดี่ยวไมโครโฟนแทน และวันนั้นฉันก็ได้แจ้งเกิดในวงสนทนาเล็ก ๆ
โดยได้ฉายาใหม่ว่า “หลิว อุดม” ที่มาจาก โน้ต อุดม นักพูดจมูกโต แต่หลิว
อุดม จมูกไม่โตเพราะ หลิว อุดม ดั้งแหมบ
การสอบสัมภาษณ์เป็นไปอย่างง่าย ๆ
เพียงแค่เข้าไปนั่งคุยกับอาจารย์สามสี่ท่าน
กรรมการสัมภาษณ์เป็นคนไทยแต่เราคุยกันด้วยภาษาอังกฤษ
ทักษะการจ้อภาษาอังกฤษของฉันอยู่ในระดับไม่แย่นัก
และทักษะการเอาตัวรอดของฉันก็ค่อนข้างสูง คำถามที่ถูกถามก็อย่างเช่น มาจากไหน
ใครมาส่ง (และกรรมการสัมภาษณ์ก็ตกใจเช่นกันเมื่อฉันบอกว่า I came
here alone by bus) ถ้าได้ไปจริงจะสะดวกใช่ไหม ทำอาหารไทยเป็นไหม
มีความสามารถพิเศษอะไร ซึ่งดู ๆ ไปแล้วโปรไฟล์ของฉันก็ไม่น่าดึงดูดใจเท่าใดนัก
และฉันก็ไม่ได้เดี่ยวไมโครโฟนให้กรรมการสัมภาษณ์ฟังเพราะฉันเดี่ยวไมโครโฟนเป็นภาษาอังกฤษไม่เป็น
เพราะฉะนั้นฉันจึงเชื่อว่า งานนี้หลิวอุดมไม่เกิดแหง ๆ
‘รอบก่อนเสียงตังค์มาลองข้อสอบ
รอบนี้เสียตังค์มาเดี่ยวไมโครโฟน มันคุ้มมั้ยเนี่ย’
หลายอาทิตย์ผ่านไป พระเจ้าคงเห็นแก่บทเดี่ยวไมโครโฟนของฉันแน่
ๆ เพราะชื่อเสาวลักษณ์ เชื้อคำดันไปปรากฏบนรายชื่อผู้ผ่านการสอบสัมภาษณ์ด้วย
ผ่านแล้ว..
ผ่านสัมภาษณ์แล้ว...
หลิว อุดม แจ้งเกิดแล้ว !
ต้องขอบพระคุณอาจารย์กรรณิการ์ ปัญญา
อาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษที่เอาใบสมัครมายื่นให้ฉันวันนั้น และขอบคุณที่บ้านที่อนุญาตให้ฉันไปสอบ
เพิ่งมารู้ความจริงจากพ่อฉันหลังจากนั้นว่า ตอนที่อนุญาตให้ไปสอบน่ะ
ไม่คิดว่าฉันจะสอบติดหรอก และสุดท้ายหนึ่งอาทิตย์ก่อนจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบิน
พ่อก็ยังไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหนมาให้ สุดท้ายพ่อก็ต้องถอดผานรถแทรกเตอร์ไปขาย
(ผานคืออุปกรณ์เสริมอย่างหนึ่งของรถแทรกเตอร์) เงินพ่อและแม่รวมกันมาเกือบสี่หมื่น
เพื่อเป็นค่าตั๋วเครื่องบินและเงินติดกระเป๋าให้ฉันไปแลกเปลี่ยน
จากทุนเพียงไม่กี่พันบาท ตอนนี้ค่าใช้จ่ายรวมตั้งแต่วันแรกที่ฉันไปสอบ เฉียดสี่หมื่นเข้าไปแล้ว...
เงินสี่หมื่นนี่เอาไปทำอะไรได้มั่ง(วะ)?
ฉันพยายามจะตีค่าของเงินจำนวนห้าหมื่นบาทนี้ให้ออกมาเป็นรูปธรรม
เพราะลำพังเลขห้าหนึ่งตัวตามด้วยเลขศูนย์อีกสี่ตัวมันดูแบนเกินไป
แต่สุดท้ายแล้วฉันก็คิดไม่ออกว่าเงินห้าหมื่นนั้นหน้าตามันเป็นยังไง
เป็นหนังสือได้กี่เล่ม เป็นเสื้อได้กี่ตัว เป็นข้าวได้กี่จาน คำนวนดูแล้วถ้าเป็นแบงค์พันก็จะมีจำนวน
40 ใบ ถ้าเป็นแบงค์ร้อยก็จะมีจำนวน 400 ใบ
เดี๋ยวนะ.. แบงค์ร้อย 400 ใบ
นี่เราจะใช้เงินเยอะขนาดนั้นจริง ๆ เหรอ
?
หรือจะไม่ไปดี (วะ)
ฉันเริ่มเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาแม่
ก่อนที่จะเซ็นสัญญาและรายงานตัวหนึ่งอาทิตย์ คำพูดของแม่ทำให้ฉันรู้ว่าฉันนี่มันเด็กน้อยจริง
ๆ แม่บอกว่า โอกาสไม่ได้วิ่งมาชนกันง่าย ๆ ครั้งนี้โอกาสวิ่งมาชนฉันแล้ว
ไม่ชนธรรมดา ชนไปตั้งสี่หมื่นด้วย เพราะฉะนั้น ไปเถอะ
ไปแล้วเก็บเกี่ยวกลับมาให้มาก เอากลับมาให้คุ้มเงินสี่หมื่นบาท
โอกาสมาแล้ว ต้องใช้ให้คุ้ม
ฉันนั่งรถลงกรุงเทพเป็นครั้งที่สาม
ครั้งนี้ไปพร้อมกับความตั้งใจล้วน ๆ ไม่มีการลองเหมือนครั้งก่อน ๆ เอกสารปึกหนาที่หอบมาเพื่อยืนยันความตั้งใจในการไปแลกเปลี่ยนถูกส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่
เมื่อหมดกิจกรรมด้านธุรการแล้ว ก็เป็นกิจกรรมด้านธุระ(ที่ต้อง)จัดการต่อ คือการเตรียมตัววางแผนการเดินทางของนักเรียนที่สอบผ่านทั้ง
16 คน ว่าจะต้องนัดเจอกันที่ไหนวันไหนตอนไหน
ของที่ระลึกที่จะต้องมอบให้กับทางโรงเรียน ครอบครัวโฮมสเตย์ สภาพอากาศเป็นอย่างไร
และหาประธานกลุ่มที่จะรับผิดชอบในการติดต่อกับสมาชิกที่จะเดินทางไปพร้อมกันทั้งหมด
“หลิวอุดมเป็นประธานไหม”
“โอ้ย ไม่ดีมั่งแก เค้าอยู่ตั้งเชียงใหม่โน่น
คงจะเป็นธุระจัดการอะไรให้ยากอ่ะ (เหนื่อยแล้วด้วย อยู่โรงเรียนก็เป็นประธาน
งานที่โรงเรียนยังจัดการไม่เสร็จเลยเนี่ย)” ประโยคในวงเล็บฉันพูดกับตัวเองล้วน ๆ
แต่ดันมีคนได้ยินเสียอีก
“หลิวอุดมเป็นประธานนักเรียนเหรอ
เท่จังเลยอ่ะ”
“เป็นประธานนักเรียนจริงป้ะเนี่ย
ผู้หญิงด้วยนะ เจ๋ง”
สุดท้ายเราก็ได้ประธาน(จริงๆ)
ในบ่ายวันนั้น ส่วนฉันเมื่อเปิดเผยตัวตนและตำแหน่งมากขึ้น
เลยได้รับการเลื่อนอันดับจาก หลิวอุดม กลายเป็น ประธานหลิว
เคียงบ่าเคียงไหล่ประธาน(จริงๆ) ไปเสียนี่
แหม เป็นประธานหลิวนี่เท่กว่าหลิวอุดมเยอะเลยนะ (ถึงดั้งจะแหมบอยู่เหมือนเดิมก็เถอะ)
ฉันตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องเก็บประสบการณ์มาให้ได้มากที่สุด
เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินและเวลาที่เสียไป นิวซีแลนด์ อีกไม่นานเราจะได้เจอกันแล้วนะ
ว่าแต่ นิวซีแลนด์นี่ มันเป็นยังไง (วะ)
ฉันเริ่มค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับนิวซีแลนด์
และพบว่าเป็นเมืองที่มีชนเผ่าดั้งเดิมเป็นชนเผ่าเมารี (Maori) ข้อมูลทั่วไปไม่เข้าหัวฉันเท่าใดนัก
เพราะฉันเองก็ไม่ได้สนใจสภาพอากาศหรือเศรษฐกิจหรือนกกีวีมากนัก
ฉันถือคติในการเรียนภาษาใหม่ว่า คำทักทายคือท่าไม้ตาย
หากจะพูดอะไรไม่ได้เลยก็ขอให้พูดคำทักทายได้ กำแพงทางภาษาก็จะน้อยลง Kia
ora (คีอา โอรา) เป็นภาษาเมารี แปลว่า สวัสดี ฉันพยายามท่องไม้ตายใหม่ให้ขึ้นใจ
ช่วงเตรียมตัวฉันยุ่งจนไม่มีเวลาตื่นเต้น
ไหนจะเสื้อผ้าข้าวของ ถึงจะเลื่อนขั้นเป็นประธานหลิวแล้ว ฉันก็ยังเป็นประธานหลิวที่ไม่เคยออกนอกประเทศไปไกลกว่าชายแดนพม่าและลาว
การเดินทางครั้งนี้จึงยิ่งใหญ่เหมือนกับที่โคลัมบัสออกสำรวจโลกเลยทีเดียว
ฉันเดินทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพคนเดียว
(อีกเช่นเดิม) ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ นอกจากเป้สะพายหลังแล้ว ฉันมีกระเป๋าเสื้อผ้าใบโตติดมาด้วย
กระเป๋าที่ใส่ของไม่พอเมื่อสองวันก่อนกลับกลายเป็นกระเป๋าที่แสนจะเทอะทะและน่ารำคาญบนรถทัวร์และรถเมล์
เวลา 9 ชั่วโมงจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพครั้งนี้ดูสั้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
สุดท้ายฉันก็พาตัวเองไปถึงสุวรรณภูมิตามเวลาที่นัดหมายกันไว้
กระเป๋าเสื้อผ้าใบโตของฉันกลายเป็นกระเป๋าใบเล็กเมื่อเทียบกับของเพื่อน
ๆ คนอื่น
และฉันคนเดียวก็กลายเป็นของแปลกเมื่ออยู่ท่ามกลางครอบครัวของเพื่อนคนอื่นด้วยเช่นกัน
ฉันพูดคุยหยอกคนนั้นคนนี้ไปตามประสา แต่ว่าไม่โชว์เดียวไมโครโฟนแล้ว เพราะวิญญาณหลิวอุดมหดเล็กลงไปเพราะตกใจสนามบิน
เหลือแต่ประธานหลิวที่คอยออกมาพยุงร่างไว้ก่อน
สนามบินนั้นใหญ่กว่าและพลุกพล่านกว่าหมอชิต
ฉันเริ่มมึนและไม่รู้จะทำอะไรต่อไปท่ามกลางคนมากมายที่คุยกันเป็นกลุ่ม ๆ
นอกจากตั้งใจยืนเฝ้ากระเป๋าเดินทางเหมือนมันอาจจะวิ่งหนีหายไป ฉันเดินทางคนเดียวมาหลายครั้งแต่ไม่มีครั้งไหนที่รู้สึกถึงความ
“คนเดียว” ได้เท่าครั้งนี้ ฉันยกนาฬิกามาดูเป็นครั้งที่แปดร้อยเก้าสิบสอง และ
บิงโก ได้เวลาเช็คอินแล้ว
ฉันกระชับสายกระเป๋าเป้ ผูกสายรองเท้าให้แน่น
จัดแว่นให้เข้าที่เป็นครั้งสุดท้าย และวินาทีนี้จะยิ่งใหญ่เท่ากับวินาทีที่สัญญาณบนเรือของโคลัมบัสดังขึ้น
เอาล่ะ ทุกคนพร้อมหรือยัง...
ฉันหันไปหาทุกคน
แต่รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังอยู่ในโรงละคร
ในฉากที่ทหารใหม่กำลังล่ำลาครอบครัวเพื่อไปออกรบ
แต่เปลี่ยนตัวละครจากทหารใหม่มาเป็นนักเรียนมัธยมห้าแทน
ทุกครอบครัวกอดกันเหมือนเรากำลังจะเดินทางไปดาวอังคาร บางครอบครัวลูก ๆ ร้องไห้
บางครอบครัวพ่อแม่ร้องไห้
ฉันเองก็รู้สึกอยากจะร้องไห้เหมือนกันแต่ไม่รู้จะหันไปร้องไห้กับใคร
ความอึดอัดเริ่มที่ก่อตัวมาตั้งแต่ก้าวแรกในสนามบินเริ่มออกฤทธิ์ทำลายร้าง
วิญญาณประธานหลิวที่พยุงร่างกายอยู่เริ่มหดลงไปเล็กเท่า ๆ กับวิญญาณหลิวอุดม
ฉันกำลังมองหาทางออกที่จะทำให้รู้สึกดีขึ้น
“ฮาโหล แม่... เราจะเช็คอินแล้วนะ”
เสียงแม่ที่ผ่านลำโพงโทรศัพท์มือถือออกมาทำให้ชื้นใจขึ้น
และทำให้น้ำตาไหลได้ด้วย ทั้งที่แม่ก็พูดแบบเดิม ๆ คือ ตั้งใจเรียนนะ
อย่าไปรังแกใครนะ ใส่เสื้อแขนยาวนะ ดื่มน้ำเยอะ ๆ นะ ...
สุดท้ายเมื่อขบวนสมาชิกเริ่มเคลื่อนที่ ฉันจึงวางสายจากแม่แล้วเดินตามไป
ฉันได้ที่นั่งข้างหน้าต่าง
เราคุยกับซุบซิบเล็กน้อยตามประสาเด็ก
สุดท้ายเสียงเริ่มเงียบลงเมื่อเครื่องบินเริ่มเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
นกยักษ์ตัวนี้พาเราลอยสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนมองเห็นตึกข้างล่างเล็กลง ๆ
และบินทะลุขึ้นมาอยู่เหนือเมฆในที่สุด
ฉันชะเง้อมองเมฆขาวโพลนข้างล่างและมันทำให้รู้สึกว่า นี่แหละ
การเดินทางเริ่มต้นขึ้นแล้ว
Taking off!
เราหยุดเปลี่ยนเที่ยวบินที่สิงค์โปรและด้วยความประหยัดเราจึงต้องเลือกเที่ยวบินที่เสียเงินน้อยที่สุด
และนั้นทำให้เราต้องติดแหง็กอยู่ในสนามบินชางงีเป็นเวลา 5 ชั่วโมง ความตื่นเต้นทั้งหมดถูกทำหล่นหายที่นี่ เราใช้เวลา 5 ชั่วโมงไปกับการถ่ายรูปหมู่จนเบื่อ เดินเล่นในสนามบินจนเบื่อ หาของกินจนเบื่อ
เล่นเก้าอี้นวดฟรีจนเบื่อ และหลับจนเบื่อ
เวลาออกเดินทางมาถึงอีกครั้ง
ครั้งนี้เราบินยาวจากสิงค์โปร์ถึงนิวซีแลนด์ด้วยเวลาเกือบสิบชั่วโมง
จอภาพฉายให้เห็นกำหนดเวลาที่เราจะถึงที่หมายคือเวลา 12.30 น. แต่ฉันเพิ่งตื่นนอนและกำลังจัดการกับมื้อเช้า
นั่นหมายถึงเราทำเวลาหายไปเกือบ 5 ชั่วโมงระหว่างการเดินทาง
สัญญาณเตือนให้รัดเข็มขัดนิรภัย
เครื่องบินบินต่ำลงเรื่อย ๆ และเริ่มมองเห็นพื้นด้านล่างในที่สุด
เราสลัดความงัวเงียทิ้งไปทันทีเมื่อออกจากเกท และเมื่อประตูสนามบินเปิดออก
นิวซีแลนด์ทักทายพวกเราด้วยลมเย็ดที่ปะทะเข้ากับตัว
ฉันเปิดโพยกระดาษแผ่นเล็ก ๆ
ที่แอบจดคำสำคัญมาด้วยลายมือขยุกขยิก และ...
“Kai ora, New Zealand. It’s
a pleasure to meet you.”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น