วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

Episode 3 : It's school time!

It’s school time!
ไปโรงเรียนกันเถอะ !

          โรงเรียนที่ฉันไปเรียนแลกเปลี่ยนคือ Rutherford college เป็นโรงเรียนขนาดกลางที่อยู่บนถนนเส้นเดียวกับโฮมสเตย์ที่ฉันพักอยู่ ฉันเดินไปโรงเรียนไม่ไกลมาก ซึ่งถือว่าโชคดีกว่าเพื่อนหลายคนที่ต้องเดินไกลหรือเสียค่ารถประจำทางมาเรียนทุกวัน กลุ่มของฉันและเพื่อน ๆ ไปเรียนในระยะสั้นแค่ 1 เดือนเราจึงได้รับข้อยกเว้นให้ไม่ต้องใส่เครื่องแบบนักเรียน การเรียนของเราแบ่งเป็น 2 ช่วงคือเรียนภาษาอังกฤษในช่วงเช้า และเข้าเรียนกับห้องเรียนต่าง ๆ ในช่วงบ่าย

          การเรียนภาษาอังกฤษในช่วงเช้าเป็นการเรียนเฉพาะกลุ่ม เป็นการเรียนเพื่อปรับพื้นฐานภาษาเป็นหลัก โดยเราจะแยกมาเรียนในตึกพิเศษที่เรียกกันว่า Village ภายในตึกนั้นจะมีนักเรียนอยู่แค่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ กลุ่มนักเรียนที่เป็นสภานักเรียน และกลุ่มนักเรียนแลกเปลี่ยนจากประเทศไทย วิชาที่เราเรียนคือวิชาภาษาอังกฤษสำหรับผู้ที่ใช้เป็นภาษาที่สอง มีผู้สอนคือ Maria Treadaway (มาเรีย)

          มาเรียเป็นครูภาษาอังกฤษในฝันของฉัน คือ เป็นครูที่มีการสอนสนุกและหลากหลาย เราไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษด้วยการท่องศัพท์หรือทำแบบฝึกหัดเป็นบ้าเป็นหลัง แต่เราเรียนด้วยการพูด การฟัง การร้องเพลง การจดบันทึก บางครั้งเราเรียนจากการดูหนัง อ่านนิยายหรือกลอน แสดงบทบาทสมมติ ต่อเติมบทสนทนาทีละคน บางครั้งเราเรียนจากการอัดเสียง ตลอดหนึ่งเดือนที่ฉันเรียนกับมาเรีย ฉันแทบจะไม่เคยทำกิจกรรมซ้ำกันในแต่ละอาทิตย์เลย การเรียนกับมาเรียทำให้รู้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการเรียนภาษา ไม่ใช่กฎเกณฑ์หรือแบบฝึกหัด แต่เป็นการใช้ภาษาให้เคยชินและสนุกไปกับมัน ความสนุกนี้จะทำให้อยากรู้อยากเข้าใจ แล้วการค้นหาคำตอบหรือทักษะใหม่ ๆ ก็จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ การเรียนภาษาอย่างเป็นธรรมชาตินี้เหมือนกับการที่เราเรียนภาษาแม่มาโดยการซึมซับตั้งแต่เกิด และสุดท้ายภาษาที่เราได้ยินได้ใช้บ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นภาษาของเรา นั่นเอง

          นอกจากมาเรียแล้ว คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำให้การเรียนภาษาช่วงเช้าเป็นเรื่องสนุกก็คือเพื่อน ๆ ที่มาแลกเปลี่ยนพร้อมกัน แม้จะเป็นคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน มาจากต่างถิ่นต่างที่ แต่เหมือนสวรรค์อวยพร พวกเราทั้ง 16 คนกลายเป็นเพื่อนสนิทกันได้ภายในเวลาไม่กี่วัน การเรียนภาษาในตอนเช้าก็เป็นเหมือนอีกโอกาสหนึ่งที่ทำให้ฉันได้รู้จักเพื่อน ๆ มากขึ้น เพราะกิจกรรมที่ทำให้ได้พูดคุยกัน ได้เรียนรู้แนวคิดของคนอื่น ๆ ได้หยอกล้อกัน ก็ทำให้เราแต่ละคนแสดงความเป็นตัวตนเองตัวเองได้อย่างเปิดเผย สุดท้ายเวลาเพียงหนึ่งเดือนก็ทำให้คนกลุ่มใหญ่สนิทกันได้ทั้งกลุ่ม และเรากลายเป็นทีม Thai student ที่คนทั้งเกรดรู้จัก เพราะนอกจากจะแต่งตัวประหลาดไม่เข้าพวกแล้ว เรายังชอบเจี๊ยวจ๊าวเสียงดังและ เป็นของแปลก ด้วย

          ความแปลกของพวกเรามีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชื่อแปลก เช่น นัท (ถั่ว) มิกกี้ (ชื่อการ์ตูน) นาย (เลขเก้า) วิว (ทัศนีย์ภาพ) กรีน (สีเขียว) บอส (เจ้านาย) และมาจากประเทศแปลก ๆ แม้ใน Rutherford college จะมีนักเรียนแลกเปลี่ยนมาจากหลายประเทศก็ตาม แต่คนในโรงเรียนกลับมีน้อยมากที่รู้จักประเทศไทย กลุ่มที่รู้จักประเทศไทยก็จะรู้จักแต่ภาพจำเป็น ต้มยำกุ้ง โทนี่ จา (จา พนม) ช้าง รวมถึงความสามารถในการแยกลักษณะคนจากประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียของเพื่อนชาวนิวซีแลนด์นั้นแทบจะติดลบ ฉันซึ่งมีชื่อเล่นและหน้าตากระเดียดไปทางจีนจึงเจอเหตุการณ์เข้าใจผิดเช่นนี้เสมอ

          “So, you’re form China?”
          (งั้นเธอก็มาจากจีนน่ะสิ)
          “No, I’m not Chinese. I’m Thai.”
          (ไม่ใช่นะ ฉันเป็นคนไทย)
          “I see, Taiwan.”
          (อ๋อ ใต้หวัน)
          “No, no. Not Taiwan. I’m from Thailand.”
          (ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ใช่ใต้หวัน ประเทศไทยนะยู ไทยแลนด์น่ะ)
          “Thailand? Do you speak Chinese?”
          (ไทยแลนด์เหรอ แล้วพวกเธอพูดภาษาจีนกันมั้ย)

และบางครั้งก็มักจะมีเด็กที่เป็นหัวโจก หรือเป็นจอมเกเรมาโชว์ออฟด้วยการเดินมาทักทายฉันว่า หนีห่าว และเมื่อฉันไม่ตอบ เขาก็จะเดินตามฉันไปเรื่อย ๆ และพูดว่า หนีห่าว หนีห่าว หนีห่าว หนีห่าว ฉันขี้เกียจอธิบายและไม่รู้จะบอกเขายังไงว่าฉันไม่หนี และฉันก็ไม่ห่าวด้วย แกห่าวไปคนเดียวเถอะ ปล่อยฉันให้ไปดีเถอะจ้า

          นอกจากกลุ่มคนประเภทที่ไม่รู้จักประเทศไทยเลยแล้ว ก็ยังมีกลุ่มที่รู้จักเมืองไทยน้อยแบบเบาบางมาก มากถึงมากที่สุด เช่น เมื่อรู้ว่าฉันมาจากประเทศไทยก็มักจะถามว่า

          “Are there many elephant there?”
          (ที่ไทยมีช้างเยอะมั้ย)
          หรือ “Do you still ride the elephant to school?”
          (พวกคุณยังขี่ช้างไปโรงเรียนอยู่รึเปล่าน่ะ)

เพื่อนในกลุ่มนักเรียนแลกเปลี่ยนมักจะแก้ข้อเข้าใจผิดอยู่เสมอและบางครั้งก็เสียเวลาไปมาก สุดท้ายฉันจึงสวมวิญญาณหลิวอุดมที่ห่างหายไปนาน ควักไม้ตายเดี่ยวไมโครโฟนออกมาใช้ และครั้งนี้เป็นภาษาอังกฤษด้วย

          “Yes, we do. We ride elephant out of our village. Then we float the raft downstream and walk along the wood bridge around half an hour to the city… “

          (ใช่แล้ว เราขี่ช้างออกมาจากหมู่บ้านก่อน แล้วก็ล่องแพแล้วเดินไปตามสะพานไม้อีกเกี่อบครึ่งชั่วโมงแหน่ะกว่าจะถึงในมือง ....)

ไม้ตายของฉันได้ผลเสมอ คนเลิกถามฉันเรื่องช้างไปอีกหลายวัน (แต่สุดท้ายก็กลับมาถามเหมือนเดิม)

          ยัง ยังไม่หมด ยังมีคนอีกประเภทหนึ่งที่รู้จักประเทศไทยดีมาก ๆ มีภาพจำเป็นโปสเตอร์งานประชาสัมพันธ์ ททท. เลย ผู้หญิงต้องรำไทย ผู้ชายต้องต่อยมวย ทุก ๆ วันต้องกินต้มยำกุ้ง นุ่งชุดไทยสไบเฉียง นุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียวกลิ้งลงมาจากหัวช้าง ตีรันฟันแทงด้วยท่าทางและเอฟเฟคท์แสงสีที่สวยงาม มีเพลงปี่พาทย์ประกอบเป็นซาวด์แทรก

          (ขอแสดงความยินดีกับกระทรวงวัฒนธรรมและ ททท. ด้วยนะคะ)
         
          หลังจากการเรียนภาษาอังกฤษในช่วงเช้าแล้ว ก็จะเป็นการเข้าเรียนตามห้องเรียนต่าง ๆ โดยนักเรียนไทยที่ไปแลกเปลี่ยนจะมีบัดดี้เป็นชาวนิวซีแลนด์ 1 คน เพื่อพาไปเรียนด้วยในตอนบ่าย ฉันพิเศษกว่าคนอื่นหน่อยที่มีบัดดี้สองคน คนแรกชื่อ Angle (แองเจิล) และคนที่สองชื่อ Courtney (คอร์ทเน่)

          แองเจิลเป็นสาวซ่า ผิวสี และผมดำ เจาะจมูกและมีกลิ่นบุหรี่ตามตัว ครั้งแรกที่เห็นก็รู้สึกไม่ถูกชะตาด้วยมาก ๆ เพราะนอกจากจะน่ากลัวแล้ว เพื่อน ๆ ในแก๊งค์ของแองเจิลก็น่ากลัวมาก ๆ ด้วย ฉันไปเรียนกับแองเจิลได้แค่ไม่กี่ครั้งแองเจิลก็หายไปในวันหนึ่ง โดยที่ไม่มีใครรู้สาเหตุ และทางโรงเรียนจึงได้ให้คอร์ทเน่มาเป็นบัดดี้คนที่สอง

          คอร์ทเน่เป็นสาวเรียบร้อย ผมสีบลอนด์ แต่งตัวถูกระเบียบ วิชาที่ฉันได้เรียนนอกเหนือจากวิชาหลักทั่วไปแล้ว ก็จะเป็นวิชาการงานอาชีพ (เย็บกระเป๋า) วิชาศิลปะ (ถ่ายรูป) วิชาวรรณกรรม วิชาการแสดง เพราะเป็นวิชาที่คอร์ทเน่เลือกเรียนตามสายการเรียน

          ในเรื่องการเรียนเด็กไทยก็เป็นคนแปลกอีกเช่นกัน โดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์ ที่เด็กไทยคูณเลขโดยไม่ใช่เครื่องคิดเลข (เพราะท่องสูตรคูณมาตั้งแต่หกเจ็ดขวบแล้ว) หาความยาวด้านสามเหลี่ยมด้านเท่าได้โดยไม่ต้องทด (เพราะคิดเลขในใจจำนวนน้อย ๆ ได้) และหาอัตราภาษีเงินได้โดยไม่ต้องเปิดตาราง (เพราะเทียบบัญญัติไตรยางศ์เป็น) เด็กไทยจะโชว์เหนือโดยไม่รู้ตัวทุกครั้งที่เรียนคณิตศาสตร์ แม้กระทั้งกับฉันซึ่งมีทักษะทางคณิตศาสตร์อยู่ในระดับต่ำมากถึงมากที่สุด ยังสามารถเป็นเทพในวิชาคณิตศาสตร์ได้

          ในทางกลับกัน พอไปเรียนในรายวิชาที่เน้นการปฏิบัติ เช่น การแสดง พละศึกษา การงานอาชีพ เด็กไทยจะเปลี่ยนจากโชว์เหนือกลายเป็นโชว์ห่วยทันที แสดงก็ไม่กล้า พละก็วิ่งไม่ทัน การงานอาชีพก็ติดกระดุมติดซิปยังไม่เป็น แต่ไม่ว่าเด็กไทยจะอยู่ในสถานะไหน เด็กไทยก็จะเป็นจุดสนใจของคนในห้องทุกครั้งไป

          ฉันเองรู้สึกชอบใจกับการเรียนการสอนที่เน้นภาคปฏิบัติ แม้ว่าจะไม่ถนัดเอาเสียเลยเพราะไม่คุ้นชิน แต่ฉันคิดว่าเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เปิดกว้างต่อผู้เรียน อย่างเช่นในวิชาถ่ายภาพ ไม่มีการพูดถึงความเข้มแสง ความไวชัตเตอร์ เปอร์สเปคทีฟใด ๆ ทั้งสิ้นในเวลาเรียน ทุกคนคว้ากล้องออกไปคนละตัว ใส่ฟิล์มคนละม้วน แล้วต่างคนก็ต่างออกไปถ่ายรูป ไปล้างรูป และในเวลาท้ายคาบก็จะมีการสรุปและยกตัวอย่างผลงานของนักเรียนในห้องให้ดู ให้ทุกคนช่วยกันออกความคิดเห็น เป็นห้องเรียนที่ให้อิสระกับความคิดทั้งของผู้เรียนและผู้สอนให้ช่วยกันออกแบบห้องเรียนตามความต้องการ

          ในอาทิตย์สุดท้ายฉันจึงไดบังเอิญเจอกับแองเจิล บัดดี้คนแรกของฉัน เราถามไถ่ทุกข์สุขกันตามประสาคน(เกือบ)รู้จัก และได้รู้ว่า ที่แองเจิลขาดเรียนไปเพราะมีปัญหาทางครอบครัว เธอดูเศร้าจนฉันอดไม่ได้ที่จะปลอบ สุดท้ายคน(เกือบ)ไม่รู้จักกันสองคนก็กอดกันกลางโถงทางเดิน ฉันรู้ว่ามันคงไม่ทำให้อะไรดีขึ้น แต่อย่างน้อย กอดนั้นก็ไม่ได้ทำให้อะไรแย่ลง และฉันรู้สึกว่า ถ้าวันนั้นไม่ได้กอดแองเจิล ฉันคงรู้สึกเสียดายไปอีกนาน

สุดท้ายเมื่อหมดเวลาในการเรียนแลกเปลี่ยนของฉัน เราต่างก็แยกย้ายกันไปทำหน้าที่เดิมในตำแหน่งเดิมของเรา คอร์ทเน่และแองเจิลก็เรียนต่อไป ฉันและเพื่อน ๆ ก็กลับไทยมาทำหน้าที่นักเรียนมัธยมปลายต่อ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือมิตรภาพและเรื่องเล่าที่ยังมีให้เล่าต่อไปไม่รู้จบ



ขอขอบคุณอาจารย์สมถวิล บุญไชย อาจารย์ผู้ควบคุมจากประเทศไทย ที่คอยดูแลกลุ่มนักเรียนแลกเปลี่ยน และให้ความรักความเมตตาในยามที่ฉันต้องใกล้บ้าน ประธานหลิวจากเชียงใหม่ ยังระลึกถึงทุกคำสอนของอาจารย์อยู่เสมอค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น