วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

About the writer








Liewying


   Name : Saowaluck Chueakham
   Edu  : Faculty of Education
          Thai major
          Chaing Mai University
          Stu code. 550210175
   fb   : 

Episode 5 : There's nothing either good or bad.

There is nothing
either good or bad,
but thinking makes it so.
ไม่มีสิ่งไหนที่ดีหรือแย่ มีแต่ความคิดเราเท่านั้นที่ทำให้มันเป็นไป



          หนึ่งเดือนในนิวซีแลนด์ของฉันจบลงแล้ว ฉันกลับถึงไทยพร้อมกับเพื่อน ๆ เราลากันด้วยอารมณ์ที่แตกต่างจากตอนมา เราเปลี่ยนจากการถ่ายรูปหมู่ตอนมา เป็นการกอดกันในตอนกลับ ไม่มีใครร้องไห้เสียน้ำตาเพราะเราต่างรู้ว่าการติดต่อกันง่ายเพียงปลายนิ้วกด ครอบครัวเพื่อน ๆ ต่างมารอรับเหมือนตอนมารอส่ง

          ฉันรอจนเพื่อน ๆ แยกย้ายกันหมดก่อน แล้วจึงมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตต่อดี จากสิบกว่าคนเหลือหนึ่งคน เสียงคุยเซ็งแซ่เมื่อห้านาทีก่อนกลายเป็นความเงียบท่ามกลางผู้คนนับร้อยนับพันในสนามบินสุวรรณภูมิ ครั้งนี้ฉันรู้วิธีจัดการกับก้อนความรู้สึกนี่แล้ว

          เบอร์คุ้นเคยถูกกดบนมือถือ ตามด้วยปุ่มโทรออก
          “แม่ เราถึงไทยละน้า คิดถึงจังเลย....”
...

          “เสาวลักษณ์เดี๋ยวเขียนรายงานส่งกระทรวงด้วยนะ”
          “เสาวลักษณ์ เป็นอย่างไรบ้าง กลับมาแล้วดูเปลี่ยนไปเป็นนักเรียนนอกเลยดูสิ”
          “นิวซีแลนด์สนุกมั้ย เล่าให้ฟังมั่ง”
          “ขอของฝากหน่อย...”

          ชีวิตของฉันหลังจากไปแลกเปลี่ยนก็ไม่มีอะไรผิดแปลกไปจากเดิม ฉันยังไปโรงเรียนท่องตำราทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ และเรียนพิเศษในวันเสาร์และอาทิตย์ และไปโรงเรียนวันจันทร์ถึงศุกร์ และเรียนพิเศษเสาร์อาทิตย์ และ... และ.... (อ่านซ้ำอีกยี่สิบรอบ)

          แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือมุมมองความคิดของฉันต่อสิ่งต่าง ๆ ต่อการเรียน ต่อความรักกุ๊กกิ๊กวัยรุ่น ต่อความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับเพื่อน ฉันและครอบครัว ความคิดของฉันกว้างขึ้นและโลกของฉันไม่ได้หยุดอยู่ในโรงเรียนและตัวเลขในใบเกรดอีกต่อไป

          ฉันสนุกกับการลองทำอะไรใหม่ ๆ เริ่มมองหางานอดิเรก เริ่มต้นเรียนภาษาที่สามและสี่ เริ่มสนุกกับการอ่านหนังสือที่นอกเหนือจากนิยายรักหวานเลี่ยน เริ่มสนุกกับการใช้ชีวิต และนี่คือสิ่งที่ได้จากการยอมและเงินสี่หมื่นและผานรถแทรกเตอร์ของพ่อ

          ขอบคุณระยะเวลาหนึ่งเดือนที่เปลี่ยนฉันไปทั้งชีวิต ฉันกล้าพูดไว้ในที่นี้เลยว่า เวลาหนึ่งเดือนในนิวซีแลนด์เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กสู่วัยที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่ เริ่มเรียนรู้ชีวิต เลือกที่จะเชื่อความคิดของตัวเองและพร้อมจะยอมรับผลของมันไม่ว่าจะผิดหรือถูก เลือกที่จะเสียบางอย่างเพื่อให้ได้บางอย่าง

          ขอบคุณเพื่อนทุกคนที่ร่วมเดินทางและเติบโตไปด้วยกัน ขอบคุณอาจารย์กรรณิการ์ ปัญญาที่แนะนำให้ฉันได้รู้จักกับโครงการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ขอบคุณอาจารย์สมถวิล บุญไชยที่คอยดูแล และไม่โกรธแม้จะมารู้ภายหลังว่าฉันหนีเที่ยวกันตั้งแต่อาทิตย์แรก ขอบคุณ Maria และ Rutherford college สำหรับประสบการณ์การเรียนรู้ดี ๆ ขอบคุณครอบครัว Hemingway ที่ดูแลอย่างไม่ขาดตกบกพร่องตลอดหนึ่งเดือน

          และขอบคุณ หลิวอุดม ประธานหลิว เสาวลักษณ์ เชื้อคำ ตัวฉันในวันนั้นที่ตัดสินใจเลือกสอบในวันนั้น และขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาให้เรียนรู้และเข้าใจ

          ...เรียนรู้และเข้าใจว่า บนโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่ดีหรือแย่ ไม่มีอะไรที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตไปมากกว่ามุมมองความคิดของเราเอง

          สุดท้ายนี้ฉันอยากฝากถึงทุกคนที่มีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยน ขอให้เลือกโอกาสนั้นไว้ไม่ว่าจะเป็นเวลาน้อยหรือมาก เพราะการ getting yourself out of comfort zone ทำให้ความคิดเราเติบโตไปได้มากอย่างที่แม้แต่ตัวคุณเองก็จะต้องตกใจ

          Ka kite ano

(จนกว่าจะพบกันใหม่.)

Episode 4 : Out of comfort zone

Out of comfort zone
ทริปอวตารร่าง (บทพิเศษ)

“อาจารย์คะ พวกหนูอยากเข้าไปในเมืองอ่ะค่ะ ถ้าจะเข้าไปกันเองนี่ ได้มั้ยคะ”
“พวกคุณจะไปได้ยังไง คุณเพิ่งมาอยู่กันอาทิตย์เดียวเอง ไว้ให้รู้ที่รู้ทางดีกว่านี้ก่อนแล้วคุณค่อยไปกันดีกว่า...”
...
          “เฮ้ยย มันไปได้เว้ย เชื่อเรา ๆ เราถามโฮสท์มาแล้ว”
          “เสียเงินเท่าไหร่อ่ะ มีเงินไม่เยอะนะ”
          “ค่ารถก็ไม่กี่เหรียญหรอก เดี๋ยวพาไปตลาดขายส่ง เพิ่งไปกะโฮสท์มาวันก่อนเนี่ย ของฝากถูก ๆ ทั้งนั้นเลย”
          “เอาจริงกันไปเนี่ย”
          “เราไปดวยดิ”

          สุดท้ายทริปเขย่าโลกก็เกิดขึ้น แม้อาจารย์จะค้านอย่างไร แต่พวกฉันก็หาทางวางแผนแอบเข้าเมืองกันไปจนได้ ในแก๊งค์หนีเที่ยวมีสมาชิกสี่คนถ้วน คือ ฉัน วิว ใบตอง และนัท โดยมีจุดหมายคือตลาด Victoria Park อันเป็นตลาดขายส่งที่มีของฝากให้เลือกมากมาย (หรืออย่างน้อยเราก็เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น)

         แผนการอันแสนจะดูดีของเราคือ เดินไปขึ้นรถบัส สาย Go west เข้าเมือง เดินไป Victoria park ซื้อของราคาถูกคุณภาพดี และเดินกลับ ง่าย ๆ เหมือนปอกกล้วยเข้าปาก...

          ปอกกล้วยเข้าปากมดน่ะสิ

          ณ ตอนนั้นวิชาเราไม่ได้แก่กล้าอย่างที่อาจารย์พูดไว้นั่นแหล่ะ เพราะกว่าจะเดินไปถึงถนนใหญ่ก็เมื่อยขาแล้ว เรายังใช้เวลาในการอ่านแผนที่กลับหัวกลับหางไปอีกหลายนาที กว่าจะรู้ว่ารถที่ต้องการขึ้นผ่านป้ายนี้ไปแล้ว และต้องรออีกเกือบยี่สิบนาทีกว่ารถคันต่อไปจะมา จนเมื่อขึ้นรถได้แล้ว เราเองก็ยังไม่รู้เลยว่าจะลงที่ป้ายไหน และป้ายนั้นมันอยู่ตรงไหน อีกกี่ป้ายจะถึง

          ด้วยสัญชาติญาณการเอาตัวรอดของเรารวมกัน เราจึงอวตารสมองรวมกันเป็นก้อนเดียว แบ่งหน้าที่ย่อยตามความถนัดคือ

          วิว ผู้เคยไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกามาแล้ว สามารถฟังภาษาอังกฤษและจับใจความได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นผู้รับสาร
          ใบตอง ผู้มีสำเนียงอเมริกันชัดแจ๋วทุกคำ มีคำศัพท์ในคลังมาก พูดแล้วเจ้าของภาษาฟังรู้เรื่อง เป็นผู้ส่งสาร
          ประธานหลิว ผู้มีทักษะในการขายผ้าเอาหน้ารอดสูง และมีประสบการณ์ในการเดินทางคนเดียวมามากกว่าคนอื่น ๆ เป็นคนวางแผน
          นัด ผู้มาเฉย ๆ และอยู่เฉย ๆ เป็นคนนั่งเฉย ๆ (???)

เราใช้วิธีให้ใบตองถาม วิวฟังและแปลให้ฉันฟังอีกที เมื่อฉันต้องการถามอะไรต่อฉันก็จะบอกใบตอง ใบตองก็จะถามเป็นภาษาอังกฤษ พอเขาตอบมา วิวก็จะเป็นคนฟังและแปลให้เพื่อนเข้าใจ เราถามไปถามมาจนเชื่อว่าเราถามทุกคนบทรถไปแล้ว และรถเมล์ที่นิวซีแลนด์ไม่มีกระเป๋ารถเมล์เหมือนบ้านเราที่คอยตะโกนบอกว่าที่นี้ป้ายอะไร จนไม่มีใครให้ถามเพิ่ม เราจึงประมวลคำตอบมารวมกันเพื่อจะไปถึง Victoria park ให้จงได้

          ด้วยการวางแผนที่เป็นหนึ่งในตองอู เราทั้งสี่คนจึงสามารถลงที่ป้ายรถเมล์และเดินไปถึง Victoria park ได้โดยไม่ได้บอกครูแต่อย่างใด ของใน Victoria park เหมือนกันทุกร้านและราคาเท่า ๆ กันทุกร้าน ฉันซึ่งไม่ได้มีวิญญาณนักช็อปจึงเดินดูของเล่นไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเมื่อเราได้ของฝากกันแล้ว เราจึงมองหาวิธีกลับเข้าไปที่หมูบ้านเราอีกครั้ง และพบว่ายังมีเวลาอีกเหลือเฟือกว่าจะถึงรถเมล์เที่ยวสุดท้าย ไหน ๆ ก็เสียเงินมาแล้ว เราสี่คนมองตากันอย่างรู้ใจ

          “ไปไหนต่อดีวะ..”

          นอกจากแผนที่รถเมล์แล้ว เราก็ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเมือง Auckland ใด ๆ อยู่ในหัวมากนัก ฉันกดดูภาพถ่ายเรื่อย ๆ และสะดุดเข้ากับภาพหนึ่งที่มียอดแหลม ๆ

          “หอสูง ๆ นี่มันชื่ออะไรนะ sky ซักอย่างเนี่ย”
          “อ๋อ Sky tower ไง มองจากตรงนี้ก็เห็นนะ...”
          บีสอง บีสาม บีสี่ นายคิดเหมือนที่ฉันคิดมั้ย ?
          ฉันคิดเหมือนที่นายคิดเลยล่ะบีหนึ่ง!

          จุดหมายต่อไปของเราคือ Sky Tower ที่เรามั่นใจว่าไปถึงได้โดยไม่ต้องใช้แผนที่แน่ ๆ เพราะเรามองเห็นมันอยู่ตลอดเวลา วิธีการของเราก็คือ เห็น Sky tower อยู่ทิศไหนก็เดินไปทิศนั้น เราไปถึงแน่ ๆ เพราะเรามองเห็นว่ามันอยู่ไม่ไกลและยังมีเวลาเหลืออีกหลายชั่วโมง

          ยิ่งเดินก็เหมือนยิ่งไกล แม้เราจะมองเห็น Sky tower ใหญ่ขึ้น ๆ เป็นสัญญาณว่าเราใกล้ถึงแล้ว แต่ผังเมืองเหมือนเล่นตลก เพราะเราเดินไปติดรั้ว ติดถนน ติดสะพาน ติดตึก ติดไปหมด เดินอ้อมไปอ้อมมาแล้วก็ยังไม่ถึงซักที

          สมองของเรารวมกันเป็นก้อนเดียวอีกครั้ง ใบตองถามทาง วิวฟังคำตอบ นัทนั่งเฉย ๆ และฉันวางแผนต่อ ด้วยความทุลักทุเล สุดท้าย Sky Tower ก็อยู่เบื้องหน้าเราแล้ว

          Sky tower ไม่ใช่ตึกที่มีไว้สำหรับชมวิวเพียงอย่างเดียว แต่ภายในเป็นตึกสำหรับธุรกิจอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคาสิโน อุปกรณ์สำหรับโดดร่ม ของที่ระลึกต่าง ๆ วิวและนัทขึ้นไปชมวิวจากด้านบนของ Sky tower ส่วนฉันและใบตองเดินดูของรออยู่ด้านล่างเพราะไม่อยากเสียเงินค่าตั๋วราคาหลายสิบเหรียญ แม้จะเสียดายโอกาสแต่คำนวณดูเงินที่เหลือในกระเป๋าแล้วก็ช่างมันเถอะ

          สุดท้ายก่อนเราจะออกจากตัวเมือง ท้องเราก็ประท้วงดังจ๊อก ๆ เพราะนอกจากมื้อเช้าที่บ้านใครบ้านมันมาก็ยังไม่มีอะไรตกถึงท้องพวกเราเลย เราเดินไปเรื่อย ๆ แล้วเจอร้านอาหารไทย แน่นอนว่าเราคิดถึงอาหารไทยมาก แต่ราคาอาหารไทยในต่างประเทศนั้นไม่เป็นมิตรอย่างที่รู้ ๆ กัน

          “โอ้ย ผัดไทย คิดถึงผัดไทย!

หนึ่งในกลุ่มพวกเราพูดขึ้นพลางชี้ไปที่ป้ายโฆษณาหน้าร้าน ผัดไทยคืออาหารที่ราคาถูกที่สุดในบรรดาอาหารบนป้ายเหล่านั้น และมันมีราคาถึง 11 เหรียญ (240 บาท)

          อ่านชัด ๆ อีกครั้ง สองร้อยสี่สิบบาทถ้วน
          เรากลืนน้ำลายเดินผ่านหน้าร้านอาหารไทยไปฝากท้องไว้กับ Subway แทน
          “มากิน Subway ที่นิวซีแลนด์ ที่เชียงใหม่ไม่มีให้กินเหรอแก”
          “แล้วแกจะมากินผัดไทยราคาสองร้อยกว่าบาทเนี่ย พิษณุโลกไม่มีผัดไทยขายหรือไง?”
          “เออว่ะ”
...

          เราเดินกลับไปที่ป้ายรถเมล์ ระหว่างทางได้ผ่าน Asian store เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มจึงขอไปเลือกซื้อเครื่องแกงสำเร็จรูปเพื่อจะไปทำอาหารไทยให้โฮมสเตย์ในเย็นนั้น และในที่สุดฉันก็เจอขุมทรัพย์

          “แก มาม่า”

          เราตื่นเต้นกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหน้าตาเหมือนแบบที่ขายในไทยทุกกระเบียดนิ้ว พลิกดูราคาและคำนวณดูแล้วมาม่าหนึ่งซองเราต้องจ่ายเกือบสามสิบบาทสำหรับมาม่าหนึ่งซอง แต่สุดท้ายด้วยความคิดถึงรสอาหารไทย เรายอมควักเงินออกมาเหมามาม่าไปคนละครึ่งโหล กะว่ากินวันเว้นวันให้พอหายคิดถึงก็จะอยู่ได้ตั้งสองอาทิตย์แหนะ

          เด็กไทยสี่คนหอบถุงมาม่าออกมาจาก Asian store เรารวมสมองกันแล้วอวตารเป็นร่างเดียวอีกครั้งเพื่อถามทางกลับ ครั้งนี้เราทำงานเป็นทีมได้ลื่นไหลและใช้เวลาน้อยกว่าครั้งแรก

          สุดท้ายเราแยกย้ายกันตรงป้ายรถเมล์ป้ายแรกที่เราขึ้นมา ฉันและใบตองเดินกลับบ้านทางเดียวกัน

          “อยู่กันหลาย ๆ คนนี่ดีเนอะ”
          “ดียังไงอ่ะ”
          “ก็ เหมือนคนมีหลาย ๆ มือหลาย ๆ หัวไง จะทำอะไรก็ทำได้”
          “คนมีหลายมือหลายหัวทำอะไรก็ทำได้จริงเหรอ?”
          “...” ไม่มีคำตอบจากใบตอง
          “...” ไม่มีคำตอบจากฉันเช่นกัน

เราสองคนเดินกลับบ้านเงียบ ๆ เพราะเหนื่อยจากการตะลอนทัวร์มาทั้งวัน

          “เจอกันพรุ่งนี้เช้านะเดี๋ยวไปหาทีบ้าน”
          “อื้อ”

ฉันบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับทัวร์อวตารรวมร่างของเราในวันนั้น และสุดท้ายก็คิดได้ว่า ถ้าให้เลือกระหว่างเป็นคนที่มีหลายหัวหลายมือ กับคนที่มีหนึ่งหัวสองมือแต่อยู่ด้วยกันหลายคน ฉันเลือกจะอยู่ด้วยกันหลายคนดีกว่า...

          หลายครั้งที่ฉันเบื่อการสมาคมกับคนอื่น เพราะเบื่อการต้องมาออกแบบกิจกรรม คำพูด ความคิด ให้เข้ากับความชอบความพอในของคนหลาย ๆ คน แต่สุดท้ายเมื่อออกจากสถานการณ์เดิม ๆ ที่เรารู้สึกคุ้นชินไปแล้ว ไปเจอสถานการณ์ใหม่ ๆ อย่างที่ฝรั่งชอบพูดกันเท่ ๆ ว่า Getting oneself out of comfort zone สิ่งที่เราต้องการที่สุดกลับเป็นใครซักคนที่คอยอยู่ข้าง ๆ คอยฟังคำศัพท์ยากและอธิบายให้ฟังอย่างวิว คอยพูดแทนเราเหมือนใบตอง หรือคอยนั่งเฉย ๆ ไปด้วยกันเหมือนนัท เหมือนกับที่ขบวนการเรนเจอร์หลากสีไม่เคยต่อสู้กับสัตว์ประหลาดเพียงคนเดียว

          เราต้องการใครซักคนมาอวตารรวมร่างกับเรา

          เราต้องการแค่นั้น

(สองสัปดาห์ต่อมาอาจารย์อนุญาตให้พวกฉันเข้าไปในเมืองเองได้และแนะนำแผนการเดินทางให้กับทุกคนในห้อง ร่างอวตารทั้งสี่ได้แต่แอบหัวเราะอยู่ในใจ)



Episode 3 : It's school time!

It’s school time!
ไปโรงเรียนกันเถอะ !

          โรงเรียนที่ฉันไปเรียนแลกเปลี่ยนคือ Rutherford college เป็นโรงเรียนขนาดกลางที่อยู่บนถนนเส้นเดียวกับโฮมสเตย์ที่ฉันพักอยู่ ฉันเดินไปโรงเรียนไม่ไกลมาก ซึ่งถือว่าโชคดีกว่าเพื่อนหลายคนที่ต้องเดินไกลหรือเสียค่ารถประจำทางมาเรียนทุกวัน กลุ่มของฉันและเพื่อน ๆ ไปเรียนในระยะสั้นแค่ 1 เดือนเราจึงได้รับข้อยกเว้นให้ไม่ต้องใส่เครื่องแบบนักเรียน การเรียนของเราแบ่งเป็น 2 ช่วงคือเรียนภาษาอังกฤษในช่วงเช้า และเข้าเรียนกับห้องเรียนต่าง ๆ ในช่วงบ่าย

          การเรียนภาษาอังกฤษในช่วงเช้าเป็นการเรียนเฉพาะกลุ่ม เป็นการเรียนเพื่อปรับพื้นฐานภาษาเป็นหลัก โดยเราจะแยกมาเรียนในตึกพิเศษที่เรียกกันว่า Village ภายในตึกนั้นจะมีนักเรียนอยู่แค่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ กลุ่มนักเรียนที่เป็นสภานักเรียน และกลุ่มนักเรียนแลกเปลี่ยนจากประเทศไทย วิชาที่เราเรียนคือวิชาภาษาอังกฤษสำหรับผู้ที่ใช้เป็นภาษาที่สอง มีผู้สอนคือ Maria Treadaway (มาเรีย)

          มาเรียเป็นครูภาษาอังกฤษในฝันของฉัน คือ เป็นครูที่มีการสอนสนุกและหลากหลาย เราไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษด้วยการท่องศัพท์หรือทำแบบฝึกหัดเป็นบ้าเป็นหลัง แต่เราเรียนด้วยการพูด การฟัง การร้องเพลง การจดบันทึก บางครั้งเราเรียนจากการดูหนัง อ่านนิยายหรือกลอน แสดงบทบาทสมมติ ต่อเติมบทสนทนาทีละคน บางครั้งเราเรียนจากการอัดเสียง ตลอดหนึ่งเดือนที่ฉันเรียนกับมาเรีย ฉันแทบจะไม่เคยทำกิจกรรมซ้ำกันในแต่ละอาทิตย์เลย การเรียนกับมาเรียทำให้รู้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการเรียนภาษา ไม่ใช่กฎเกณฑ์หรือแบบฝึกหัด แต่เป็นการใช้ภาษาให้เคยชินและสนุกไปกับมัน ความสนุกนี้จะทำให้อยากรู้อยากเข้าใจ แล้วการค้นหาคำตอบหรือทักษะใหม่ ๆ ก็จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ การเรียนภาษาอย่างเป็นธรรมชาตินี้เหมือนกับการที่เราเรียนภาษาแม่มาโดยการซึมซับตั้งแต่เกิด และสุดท้ายภาษาที่เราได้ยินได้ใช้บ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นภาษาของเรา นั่นเอง

          นอกจากมาเรียแล้ว คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำให้การเรียนภาษาช่วงเช้าเป็นเรื่องสนุกก็คือเพื่อน ๆ ที่มาแลกเปลี่ยนพร้อมกัน แม้จะเป็นคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน มาจากต่างถิ่นต่างที่ แต่เหมือนสวรรค์อวยพร พวกเราทั้ง 16 คนกลายเป็นเพื่อนสนิทกันได้ภายในเวลาไม่กี่วัน การเรียนภาษาในตอนเช้าก็เป็นเหมือนอีกโอกาสหนึ่งที่ทำให้ฉันได้รู้จักเพื่อน ๆ มากขึ้น เพราะกิจกรรมที่ทำให้ได้พูดคุยกัน ได้เรียนรู้แนวคิดของคนอื่น ๆ ได้หยอกล้อกัน ก็ทำให้เราแต่ละคนแสดงความเป็นตัวตนเองตัวเองได้อย่างเปิดเผย สุดท้ายเวลาเพียงหนึ่งเดือนก็ทำให้คนกลุ่มใหญ่สนิทกันได้ทั้งกลุ่ม และเรากลายเป็นทีม Thai student ที่คนทั้งเกรดรู้จัก เพราะนอกจากจะแต่งตัวประหลาดไม่เข้าพวกแล้ว เรายังชอบเจี๊ยวจ๊าวเสียงดังและ เป็นของแปลก ด้วย

          ความแปลกของพวกเรามีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชื่อแปลก เช่น นัท (ถั่ว) มิกกี้ (ชื่อการ์ตูน) นาย (เลขเก้า) วิว (ทัศนีย์ภาพ) กรีน (สีเขียว) บอส (เจ้านาย) และมาจากประเทศแปลก ๆ แม้ใน Rutherford college จะมีนักเรียนแลกเปลี่ยนมาจากหลายประเทศก็ตาม แต่คนในโรงเรียนกลับมีน้อยมากที่รู้จักประเทศไทย กลุ่มที่รู้จักประเทศไทยก็จะรู้จักแต่ภาพจำเป็น ต้มยำกุ้ง โทนี่ จา (จา พนม) ช้าง รวมถึงความสามารถในการแยกลักษณะคนจากประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียของเพื่อนชาวนิวซีแลนด์นั้นแทบจะติดลบ ฉันซึ่งมีชื่อเล่นและหน้าตากระเดียดไปทางจีนจึงเจอเหตุการณ์เข้าใจผิดเช่นนี้เสมอ

          “So, you’re form China?”
          (งั้นเธอก็มาจากจีนน่ะสิ)
          “No, I’m not Chinese. I’m Thai.”
          (ไม่ใช่นะ ฉันเป็นคนไทย)
          “I see, Taiwan.”
          (อ๋อ ใต้หวัน)
          “No, no. Not Taiwan. I’m from Thailand.”
          (ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ใช่ใต้หวัน ประเทศไทยนะยู ไทยแลนด์น่ะ)
          “Thailand? Do you speak Chinese?”
          (ไทยแลนด์เหรอ แล้วพวกเธอพูดภาษาจีนกันมั้ย)

และบางครั้งก็มักจะมีเด็กที่เป็นหัวโจก หรือเป็นจอมเกเรมาโชว์ออฟด้วยการเดินมาทักทายฉันว่า หนีห่าว และเมื่อฉันไม่ตอบ เขาก็จะเดินตามฉันไปเรื่อย ๆ และพูดว่า หนีห่าว หนีห่าว หนีห่าว หนีห่าว ฉันขี้เกียจอธิบายและไม่รู้จะบอกเขายังไงว่าฉันไม่หนี และฉันก็ไม่ห่าวด้วย แกห่าวไปคนเดียวเถอะ ปล่อยฉันให้ไปดีเถอะจ้า

          นอกจากกลุ่มคนประเภทที่ไม่รู้จักประเทศไทยเลยแล้ว ก็ยังมีกลุ่มที่รู้จักเมืองไทยน้อยแบบเบาบางมาก มากถึงมากที่สุด เช่น เมื่อรู้ว่าฉันมาจากประเทศไทยก็มักจะถามว่า

          “Are there many elephant there?”
          (ที่ไทยมีช้างเยอะมั้ย)
          หรือ “Do you still ride the elephant to school?”
          (พวกคุณยังขี่ช้างไปโรงเรียนอยู่รึเปล่าน่ะ)

เพื่อนในกลุ่มนักเรียนแลกเปลี่ยนมักจะแก้ข้อเข้าใจผิดอยู่เสมอและบางครั้งก็เสียเวลาไปมาก สุดท้ายฉันจึงสวมวิญญาณหลิวอุดมที่ห่างหายไปนาน ควักไม้ตายเดี่ยวไมโครโฟนออกมาใช้ และครั้งนี้เป็นภาษาอังกฤษด้วย

          “Yes, we do. We ride elephant out of our village. Then we float the raft downstream and walk along the wood bridge around half an hour to the city… “

          (ใช่แล้ว เราขี่ช้างออกมาจากหมู่บ้านก่อน แล้วก็ล่องแพแล้วเดินไปตามสะพานไม้อีกเกี่อบครึ่งชั่วโมงแหน่ะกว่าจะถึงในมือง ....)

ไม้ตายของฉันได้ผลเสมอ คนเลิกถามฉันเรื่องช้างไปอีกหลายวัน (แต่สุดท้ายก็กลับมาถามเหมือนเดิม)

          ยัง ยังไม่หมด ยังมีคนอีกประเภทหนึ่งที่รู้จักประเทศไทยดีมาก ๆ มีภาพจำเป็นโปสเตอร์งานประชาสัมพันธ์ ททท. เลย ผู้หญิงต้องรำไทย ผู้ชายต้องต่อยมวย ทุก ๆ วันต้องกินต้มยำกุ้ง นุ่งชุดไทยสไบเฉียง นุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียวกลิ้งลงมาจากหัวช้าง ตีรันฟันแทงด้วยท่าทางและเอฟเฟคท์แสงสีที่สวยงาม มีเพลงปี่พาทย์ประกอบเป็นซาวด์แทรก

          (ขอแสดงความยินดีกับกระทรวงวัฒนธรรมและ ททท. ด้วยนะคะ)
         
          หลังจากการเรียนภาษาอังกฤษในช่วงเช้าแล้ว ก็จะเป็นการเข้าเรียนตามห้องเรียนต่าง ๆ โดยนักเรียนไทยที่ไปแลกเปลี่ยนจะมีบัดดี้เป็นชาวนิวซีแลนด์ 1 คน เพื่อพาไปเรียนด้วยในตอนบ่าย ฉันพิเศษกว่าคนอื่นหน่อยที่มีบัดดี้สองคน คนแรกชื่อ Angle (แองเจิล) และคนที่สองชื่อ Courtney (คอร์ทเน่)

          แองเจิลเป็นสาวซ่า ผิวสี และผมดำ เจาะจมูกและมีกลิ่นบุหรี่ตามตัว ครั้งแรกที่เห็นก็รู้สึกไม่ถูกชะตาด้วยมาก ๆ เพราะนอกจากจะน่ากลัวแล้ว เพื่อน ๆ ในแก๊งค์ของแองเจิลก็น่ากลัวมาก ๆ ด้วย ฉันไปเรียนกับแองเจิลได้แค่ไม่กี่ครั้งแองเจิลก็หายไปในวันหนึ่ง โดยที่ไม่มีใครรู้สาเหตุ และทางโรงเรียนจึงได้ให้คอร์ทเน่มาเป็นบัดดี้คนที่สอง

          คอร์ทเน่เป็นสาวเรียบร้อย ผมสีบลอนด์ แต่งตัวถูกระเบียบ วิชาที่ฉันได้เรียนนอกเหนือจากวิชาหลักทั่วไปแล้ว ก็จะเป็นวิชาการงานอาชีพ (เย็บกระเป๋า) วิชาศิลปะ (ถ่ายรูป) วิชาวรรณกรรม วิชาการแสดง เพราะเป็นวิชาที่คอร์ทเน่เลือกเรียนตามสายการเรียน

          ในเรื่องการเรียนเด็กไทยก็เป็นคนแปลกอีกเช่นกัน โดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์ ที่เด็กไทยคูณเลขโดยไม่ใช่เครื่องคิดเลข (เพราะท่องสูตรคูณมาตั้งแต่หกเจ็ดขวบแล้ว) หาความยาวด้านสามเหลี่ยมด้านเท่าได้โดยไม่ต้องทด (เพราะคิดเลขในใจจำนวนน้อย ๆ ได้) และหาอัตราภาษีเงินได้โดยไม่ต้องเปิดตาราง (เพราะเทียบบัญญัติไตรยางศ์เป็น) เด็กไทยจะโชว์เหนือโดยไม่รู้ตัวทุกครั้งที่เรียนคณิตศาสตร์ แม้กระทั้งกับฉันซึ่งมีทักษะทางคณิตศาสตร์อยู่ในระดับต่ำมากถึงมากที่สุด ยังสามารถเป็นเทพในวิชาคณิตศาสตร์ได้

          ในทางกลับกัน พอไปเรียนในรายวิชาที่เน้นการปฏิบัติ เช่น การแสดง พละศึกษา การงานอาชีพ เด็กไทยจะเปลี่ยนจากโชว์เหนือกลายเป็นโชว์ห่วยทันที แสดงก็ไม่กล้า พละก็วิ่งไม่ทัน การงานอาชีพก็ติดกระดุมติดซิปยังไม่เป็น แต่ไม่ว่าเด็กไทยจะอยู่ในสถานะไหน เด็กไทยก็จะเป็นจุดสนใจของคนในห้องทุกครั้งไป

          ฉันเองรู้สึกชอบใจกับการเรียนการสอนที่เน้นภาคปฏิบัติ แม้ว่าจะไม่ถนัดเอาเสียเลยเพราะไม่คุ้นชิน แต่ฉันคิดว่าเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เปิดกว้างต่อผู้เรียน อย่างเช่นในวิชาถ่ายภาพ ไม่มีการพูดถึงความเข้มแสง ความไวชัตเตอร์ เปอร์สเปคทีฟใด ๆ ทั้งสิ้นในเวลาเรียน ทุกคนคว้ากล้องออกไปคนละตัว ใส่ฟิล์มคนละม้วน แล้วต่างคนก็ต่างออกไปถ่ายรูป ไปล้างรูป และในเวลาท้ายคาบก็จะมีการสรุปและยกตัวอย่างผลงานของนักเรียนในห้องให้ดู ให้ทุกคนช่วยกันออกความคิดเห็น เป็นห้องเรียนที่ให้อิสระกับความคิดทั้งของผู้เรียนและผู้สอนให้ช่วยกันออกแบบห้องเรียนตามความต้องการ

          ในอาทิตย์สุดท้ายฉันจึงไดบังเอิญเจอกับแองเจิล บัดดี้คนแรกของฉัน เราถามไถ่ทุกข์สุขกันตามประสาคน(เกือบ)รู้จัก และได้รู้ว่า ที่แองเจิลขาดเรียนไปเพราะมีปัญหาทางครอบครัว เธอดูเศร้าจนฉันอดไม่ได้ที่จะปลอบ สุดท้ายคน(เกือบ)ไม่รู้จักกันสองคนก็กอดกันกลางโถงทางเดิน ฉันรู้ว่ามันคงไม่ทำให้อะไรดีขึ้น แต่อย่างน้อย กอดนั้นก็ไม่ได้ทำให้อะไรแย่ลง และฉันรู้สึกว่า ถ้าวันนั้นไม่ได้กอดแองเจิล ฉันคงรู้สึกเสียดายไปอีกนาน

สุดท้ายเมื่อหมดเวลาในการเรียนแลกเปลี่ยนของฉัน เราต่างก็แยกย้ายกันไปทำหน้าที่เดิมในตำแหน่งเดิมของเรา คอร์ทเน่และแองเจิลก็เรียนต่อไป ฉันและเพื่อน ๆ ก็กลับไทยมาทำหน้าที่นักเรียนมัธยมปลายต่อ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือมิตรภาพและเรื่องเล่าที่ยังมีให้เล่าต่อไปไม่รู้จบ



ขอขอบคุณอาจารย์สมถวิล บุญไชย อาจารย์ผู้ควบคุมจากประเทศไทย ที่คอยดูแลกลุ่มนักเรียนแลกเปลี่ยน และให้ความรักความเมตตาในยามที่ฉันต้องใกล้บ้าน ประธานหลิวจากเชียงใหม่ ยังระลึกถึงทุกคำสอนของอาจารย์อยู่เสมอค่ะ

Episode 2 : Nothing’s special, nothing’s normal, that is life.

Nothing’s special, nothing’s normal,
that is life.
ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีอะไรธรรมดา นั่นแหล่ะที่เรียกว่าชีวิต


         หนึ่งเดือนในนิวซีแลนด์ของฉันอยู่ที่เมือง Auckland ซึ่งเป็นเมืองทางเหนือของนิวซีแลนด์ อากาศช่วงกลางเมษาเย็นสบายค่อนไปทางหนาว หมู่บ้านที่ฉันอยู่อยู่ห่างจากตัวเมืองอยู่ระดับหนึ่ง แต่ห่างไม่มาก ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะไม่วุ่นวายและการเดินทางไม่ลำบาก

ฉันพักอยู่กับครอบครัว Hemingway ซึ่งมีสมาชิกสองคนคือ Linda (ลินดา) แม่ และ Grace (เกรซ) ลูกสาว ครอบครัวโฮมสเตย์ของฉันเป็นครอบครัวเลี้ยงเดียว เพราะลินดาแยกทางกับพ่อของเกรซตั้งแต่เกรซยังเด็กมาก ๆ เกรซเรียนอยู่ชั้นประถมและลินดากำลังเรียนปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อม ห้องนอนของฉันเป็นห้องนอนที่สร้างไว้สำหรับรับโฮสต์นักเรียนแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะ เจ้าของห้องคนก่อนเป็นชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งกลับไปเมื่อเดือนก่อน บ้านของลินดารับโฮสต์อยู่ตลอดจึงไม่มีปัญหาในการดูแล แต่ฉันเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนชาวไทยคนแรกที่ได้มานอนบ้านหลังนี้ ลินดาเคยไปประเทศไทยมาและสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศไทยมาก เราจึงเริ่มคุยกันได้ง่าย

ชีวิตของฉันในนิวซีแลนด์เริ่มต้นที่หกโมงเช้า (หรือเจ็ดโมงถ้าขี้เกียจ) โชคดีที่บ้านของลินดาอยู่ห่างจากโรงเรียนของฉันไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร ฉันจึงไม่ต้องเสียค่ารถในการเดินทางและสามารถตื่นสายได้นิดหน่อย ฉันตื่นมาอาบน้ำตอนเช้าทุกวันทั้งที่ปกติแล้วชาวนิวซีแลนด์มักไม่อาบน้ำตอนเช้าเพราะอากาศเริ่มหนาวและค่าน้ำประปาค่อนข้างสูง แต่ด้วยความเคยชินฉันจึงขอลินดาอาบน้ำตอนเช้าด้วย

ทุกคนในบ้านทำกิจกรรมตอนเช้าแบบตัวใครตัวมัน คือ ใครตื่นก่อนก็อาบน้ำก่อน กินมื้อเช้าก่อน มื้อเช้าของฉันมักเป็นอาหารง่าย ๆ เช่นขนมปังปิ้ง ซีเรียล หรือ Weet-bix หลังจากนั้นฉันจะรับหน้าที่เป็นลูกมือเกรซในการให้อาหารกระต่าย โดยมักจะเป็นเศษผักที่เหลือจากการทำอาหารเย็นเมื่อวาน เสร็จแล้วเกรซต้องรอดูการ์ตูนจนถึงเรื่อง Ben 10 จบ แล้วจึงเดินไปโรงเรียนพร้อมกันสามคน คือ ฉัน เกรซ ซึ่งเรียนโรงเรียนประถมข้าง ๆ โรงเรียนของฉัน และใบตอง เพื่อนร่วมโครงการที่พักอยู่บ้านตรงกันข้ามกับฉัน เรามักจะเดินไปโรงเรียนพร้อมกัน หรือบางวันที่เกรซไม่ไปโรงเรียน หรือเดินไปก่อน ก็จะเหลือเพียงฉันกับใบตอง

เวลาเลิกเรียนคือสามโมงถึงสี่โมง ในวันแรก ๆ ฉันก็สวมบทเด็กดีรีบกลับบ้านมาช่วยงานลินดา ซึ่งแน่นอนว่าในบ้านที่อยู่กันสองคนแม่ลูกก็ย่อมจะไม่มีอะไรให้ฉันช่วยทำนอกจากดูโทรทัศน์อยู่เฉย ๆ หรือออกไปกระโดดแทรมโพลีนเล่นให้เด็กข้างบ้านนินทาเอาก็เท่านั้น ช่วงหลังฉันจึงเลือกออกไปเดินโต๋เต๋กับเพื่อนก่อนจนเกือบค่ำแล้วค่อยเข้าบ้าน ก็จะเป็นเวลาเตรียมอาหารเย็นพอดี และทีนี้ฉันก็พอจะมีอะไรให้ทำบ้างแล้ว

ฉันเป็นลูกมือในการเตรียมอาหารที่ดี แต่ทำอาหารไม่ได้ คือ ช่วยหยิบ จับ ล้าง หั่น ซอย ไปจนกระทั่งจัดโต๊ะกินข้าว ได้หมดตามแต่จะบอก แต่ฉันไม่มีสูตรการทำอาหารใด ๆ อยู่ในหัวเลยนอกจากไข่ดาว ไข่ต้ม และไข่เจียว

อย่างที่บอกไว้ว่าลินดาเคยมาประเทศไทยและสนใจวัฒนธรรมของไทยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ครั้งหนึ่งลินดาเคยถามฉันว่า ฉันทำอาหารได้เป็นไหม ฉันเองก็อยากจะรักษาชื่อเสียงของประเทศไว้ด้วยเสน่ห์ปลายจวักแบบแม่ช้อยต้องชวนกันมาชิม แต่กลัวจะทำเขาท้องเสียกันยกบ้าน เลยต้องตอบไปตามความจริงว่าฉันทำอาหารไม่เป็นแม้แต่อย่างเดียว ที่แรกฉันนึกว่าลินดาจะตกใจหรือผิดหวัง แต่คำตอบที่ลินดาตอบฉันมาทำให้ฉันตกใจมากกว่า คือ ‘That’s okay. You don’t cook Thai food but I do !’ (ไม่เป็นไรหรอก เพราะถึงเธอจะทำอาหารไทยไม่เป็น แต่ฉันทำเป็นนะ) ว่าแล้วลินดาก็หยิบหนังสือตำราอาหารไทยมาโชว์ให้ฉันดูด้วย จึงเป็นบุญปากของฉันที่ได้กินพะแนงหมู แกงเขียวหวานไก่ ลาบอิสาน หรือแม้กระทั่งของทานเล่นอย่างเปาะเปี๊ยะทอด อาหารพื้นบ้านไทย ๆ ที่ทำโดยชาวนิวซีแลนด์ อาหารไทยของลินดานั้นอยู่ในขั้นมืออาชีพเลยก็ว่าได้ เพราะลาบอิสานของเธอนั้นใส่พริกแห้งและข้าวคั่วตามแบบฉบับอิสานบ้านเฮาแท้ ๆ ! ฝีมือการทำอาหารของลินดาเด็ดดวงจริง ๆ รับประกันได้จากน้ำหนักของฉันที่ขึ้นมา 5 กิโลกรัมภายใน 1 เดือน

หลังจากมื้อเย็นเสร็จแล้ว ฉันก็พยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์โดยการเหมาหน้าที่ล้างจานเพราะเป็นงานที่ฉันถนัดที่สุดแล้ว ฉันจัดการกับจานตามแบบไทย ๆ โดยการเขี่ยเศษอาหารทิ้ง ล้างด้วยน้ำเปล่าและกำลังมองหาน้ำยาล้างจาน และก็ต้องสะดุดกับ Culture shock เมื่อลินดาสาธิตวิธีการจัดการกับจานชามให้ดูตามแบบฉบับกีวี่ (กีวี่ คำที่ใช้เรียกชาวนิวซีแลนด์) คือกวาด ๆ เศษอาหารทิ้งแล้วยัดลงไปในเครื่องล้างจานเลย ฉันพยายามอธิบายถึงพลังของการล้างจานให้สะอาดด้วยสองมือในระหว่างที่เครื่องล้างจานกำลังทำงานดังกึก ๆ กัก ๆ และลินดาก็กำลังอธิบายถึงข้อดีของการใช้เครื่องล้างจาน (ซึ่งเหตุผลหลักก็คือค่าน้ำประปาค่อนข้างสูงอีกนั่นแหล่ะ) สุดท้ายฉันก็ต้องยอมแพ้เพราะการล้างจานทีละใบ ๆ ในสภาพอากาศที่เกือบจะหนาวนั้นมันไม่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตจริง ๆ

เช้าวันหนึ่งฉันเปิดเครื่องล้างจานมาเพื่อจะเอาถ้วยสำหรับใส่ซีเรียล และพบว่ามีใบหนึ่งที่ยังมีคราบเหลืออยู่ จึงชี้ให้ลินดาดู

“Look, as I said, the machine will never be as good as my hands”
(เห็นมั้ย ดูสิ ฉันบอกแล้วไงคะว่าเครื่องน่ะมันล้างได้ไม่เท่ามือล้างหรอก)

ลินดายิ้มและพยักหน้าให้แล้วตอบกลับมาว่า
“Honey, if there’s not a big mistake, let’s just close an eye for it. Life will be much easier.”
เธอหยิบจานที่สะอาดแล้วออก เหลือไว้แต่จานใบที่มีคราบแล้วปิดฝาเครื่อง กดปุ่มให้เครื่องทำงานอีกครั้ง
ที่รัก ถ้ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรก็หลับหูหลับตาบ้างเถอะ ชีวิตจะง่ายขึ้นอีกเยอะเลย
(ที่จริงฉันแอบค้านในใจอยู่เล็ก ๆ แต่ก็ไม่ได้สนใจมากนัก และวงคำศัพท์ภาษาอังกฤษในหัวก็เริ่มจะตันแล้ว เพราะฉะนั้น ช่างมันเถอะ.)

          หลังจากเวลาอาหารเย็นแล้ว ก็เป็นเวลาอาบน้ำและเตรียมตัวเข้านอน ระหว่างนี้ฉันก็จะทำการบ้านหรือออกไปดูโทรทัศน์บ้าง คุยเรื่องเรื่อยเปื่อยกับลินดา เล่นเกมส์กับเกรซ หรือวาดรูปด้วยกัน ทุกคืนก่อนนอนลินดาจะอ่านหนังสือให้เกรซฟังก่อนจะกลับไปนอนที่ห้อง

          เกรซนอนแยกห้องกับลินดาตั้งแต่เด็ก เช่นเดียวกับเด็กคนอื่น ๆ ในห้องของเกรซจะมีของเล่น หนังสือและตุ๊กตาจำนวนมาก แม้ในช่วงวันของในห้องนั้นจะรกรุงรังขนาดไหนแต่สุดท้ายก่อนนอนของในห้องจะต้องเป็นระเบียบ เพราะเป็นกฎข้อหนึ่งของบ้าน และไม่น่าเชื่อว่าเธอเก็บของในห้องเรียบร้อยทุกคืน ฉันย้อนกลับไปถึงตอนตัวเองอยู่ชั้นประถมต้นเหมือนเกรซ อย่าว่าแต่ของในห้องเลย ของในกระเป๋านักเรียนของฉันยังไม่เคยเป็นระเบียบ (และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เป็น)
          กฎในการอยู่ร่วมกันในบ้านมีเพียงไม่กี่ข้อ และแต่ละข้อก็เป็นเรื่องเล็ก ๆ เช่น ไม่ลุกจากโต๊ะก่อนในเวลามื้อเย็น เมื่อโกรธ ให้ไปสงบสติอารมณ์ในห้องเป็นเวลาห้านาที กินไอศกรีมในตู้เย็นได้ทุกวันพุธหลังมื้อเย็น ไม่มีกฎหรือข้อตกลงที่เข้าใจยาก ๆ เช่น ตรงต่อเวลา ซื่อสัตย์ ประหยัด อดออม รู้รักสามัคคี ฯลฯ และกฎนี้ก็ศักดิ์สิทธิ์กับเกรซทุกข้อ ครั้งหนึ่งเธอเคยโมโหเกี่ยวกับมื้อเย็นที่ไม่ถูกปากแต่โดนบังคับให้กิน สุดท้ายเมื่อลินดาบอกให้เกรซเข้าห้อง ห้านาทีผ่านไปเธอก็กลับมาคุยกับลินดาด้วยเหตุผลว่า เธอไม่ชอบอาหารเย็นมื้อนี้เพราะมันเผ็ดพริกไทย ขอโทษด้วยที่ไม่กินทั้ง ๆ ที่แม่เสียเวลาทำ และขอให้ลินดาทำออมเล็ทให้เธอกิน ฉันเองแม้จะไม่เคยโมโหหรือขึ้นเสียงในตอนเด็ก ๆ แต่การควบคุมอารมณ์ตนเองเมื่อโตขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน แต่เด็กเล็ก ๆ กลับพิสูจน์ให้ฉันดูแล้วว่ามันไม่ยากเลย

          นอกจากกฎในการอยู่ร่วมกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ๆ สำหรับเกรซคือตารางเวลา แม้ว่าตารางเวลาของเกรซจะไม่มีกำหนดเป็นชั่วโมงและนาทีที่แน่นอนแต่กิจกรรมของเกรซจะต้องเรียงตามลำดับในแต่ละวัน และเกรซไม่เคยไปโรงเรียนสาย วันไหนจะมีกิจกรรมพิเศษ เช่น มีกิจกรรมเพิ่มที่โรงเรียนตอนเย็น หรืออยากไปนอนค้างบ้านเพื่อน เกรซจะต้องขออนุญาตลินดาก่อนเสมอ

          การได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว Hemingway แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เป็นช่วงเวลาที่มีความหมายกับฉันมาก ขอขอบคุณการดูแล ขอบคุณทุกคำทักทาย ขอบคุณทุกคำถามไถ่และมิตรภาพดี ๆ ที่มีให้กับฉัน

ครอบครัว Hemingway เป็นครอบครัวธรรมดา ๆ ที่น่ารักและอบอุ่น และมีความสัมพันธ์ที่พิเศษอย่างที่ครอบครัวธรรมดา ๆ พึงมี สิ่งที่ฉันทำและเจอร่วมกับครอบครัว Hemingway ยังมีอีกมาก ชนิดที่เขียนเล่าอีกสิบเล่มก็ยังไม่จบ เพราะแต่ละเรื่องก็มีความทรงจำพิเศษยิบย่อยลงไป ในเรื่องราวธรรมดา ๆ ของครอบครัวหนึ่ง


          สิ่งธรรมดาที่แสนพิเศษ นี่แหล่ะชีวิต.